BAM ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ได้แก่ หนี้สินด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขาย โดยมุ่งเน้นการรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทอสังหาริมทรัพย์จากสถาบันการเงินภายในประเทศไทย

BAM มีนโยบายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 110 ของต้นทุนที่ลดลงในแต่ละปี ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ สภาวะตลาดและการแข่งขัน และสภาพคล่องบริษัท ซึ่ง BAM มุ่งเน้นการลงทุนโดยคำนึงถึงคุณภาพของหนี้และหลักประกันของ NPLs และเกรดทรัพย์ของ NPAs เป็นสำคัญ

NPLs เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กล่าวคือ ลูกหนี้เงินกู้ของสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้กับสถาบันการเงินเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป

NPLs ส่วนใหญ่ที่ BAM รับซื้อเป็นหนี้ที่ลูกหนี้นำอสังหาริมทรัพย์มาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกัน โดย BAM มุ่งเน้นการบริหารงานด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้และหลักประกันของลูกหนี้ตามความเหมาะสมของแต่ละราย ทั้งนี้ หากลูกหนี้ไม่ประสงค์เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ BAM จะดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีนำหลักประกันออกประมูลขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป

ทั้งนี้ BAM บันทึกบัญชีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ในราคาทุนที่รับซื้อหรือรับโอนมา

NPAs เป็นอสังหาริมทรัพย์มือสอง ซึ่ง BAM ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จากการปรับโครงสร้างหนี้(ลูกหนี้โอนทรัพย์ชำระหนี้) การประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด และการซื้อโดยตรงจากสถาบันการเงิน

BAM บริหารงาน NPAs โดยการขายตามสภาพ หรือพิจารณาปรับปรุง ซ่อมแซมเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม มีสภาพพร้อมขาย ซึ่งผู้สนใจซื้อทรัพย์สามารถซื้อทรัพย์โดยชำระคราวเดียวหรือผ่อนชำระได้

ทั้งนี้ BAM บันทึกบัญชีทรัพย์สินรอการขายในราคารับโอน (ต้นทุนที่รับซื้อ) หรือต้นทุนที่รับซื้อรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) จากกรมบังคับคดีหรือสถาบันการเงินอื่น

การขายทอดตลาดเป็นผลมาจากการดำเนินคดีฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ โดยเมื่อเจ้าหนี้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน และศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วนั้น หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา เจ้าหนี้อาจดำเนินการขอให้ศาลมีหมายบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สังกัดกรมบังคับคดี นำยึดทรัพย์หลักประกันออกประมูลขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

สำหรับ BAM นั้น การขายทอดตลาดหลักประกันเป็นเพียงวิธีหนึ่งในการบริหารงานด้าน NPLs ซึ่งหากลูกหนี้เข้ามาเจรจาประนอมหนี้ก่อนการดำเนินคดี หรือก่อนการบังคับคดียึดทรัพย์หลักประกัน จะเป็นผลดีต่อลูกหนี้และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและถอนการยึดทรัพย์ได้

เงินรอรับจากการขายทอดตลาด เป็นรายการบัญชีที่บันทึกเมื่อกรมบังคับคดีได้ขายทอดตลาดหลักประกันของลูกหนี้ และผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดได้วางเงินชำระราคาที่กรมบังคับคดีครบถ้วน (ผู้ซื้อสามารถขยายเวลาการวางเงินได้สูงสุดถึง 105 วันจากวันที่เคาะขายทอดตลาด)

เมื่อผู้ซื้อได้วางเงินชำระราคาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรมบังคับคดีจะจัดทำบัญชีรับ-จ่ายตามสัดส่วนหนี้ และเมื่อเจ้าหนี้ทุกรายและลูกหนี้ไม่โต้แย้งบัญชีรับ-จ่ายดังกล่าว กรมบังคับคดีจะจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ และคืนเงินส่วนที่เหลือให้กับลูกหนี้ (ถ้ามี)

บริษัทฯ นำ TFRS9 มาบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อวิธีการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเปลี่ยนจากเกณฑ์เงินสด เป็นเกณฑ์คงค้าง กล่าวคือ BAM บันทึกรายได้ดอกเบี้ยค้างรับจากลูกหนี้ที่รับซื้อมา ทั้งนี้ ได้บันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในรายได้ดอกเบี้ยค้างรับคู่กันไป เพื่อให้สะท้อนผลประกอบการที่แท้จริง